อยากลงทุนธุรกิจ ‘สตาร์ทอัพ’ จะประเมินมูลค่ากันอย่างไร?
เมื่อพูดถึง ‘สตาร์ทอัพ (Start-up)’ ตามความเข้าใจโดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงธุรกิจใหม่ที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาโดยผู้ประกอบการยุคใหม่ ผ่านการพยายามพัฒนาธุรกิจภายใต้ ‘ไอเดีย’ เจ๋งๆ หรือ ‘เทคโนโลยี’ ที่น่าทึ่ง ก่อนที่จะนำเสนอตัวเองให้เป็นที่รู้จักผ่านผลิตภัณฑ์หรือบริการรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางก่อนที่สตาร์ทอัพจะเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ‘เงินลงทุน’ ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมี ซึ่งแหล่งเงินลงทุนของสตาร์ทอัพมักจะมาจากบุคคลภายนอก อย่างเช่น Venture Capital หรือ Angel Investor เป็นต้น
แต่ก่อนที่นักลงทุนเหล่านี้จะตัดสินใจใส่เงินลงทุนในธุรกิจใดๆ สิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้ให้ได้ก่อนคือ ‘มูลค่าของสิ่งที่จะลงทุน’ มันคือเท่าใดกันแน่? ซึ่งการประเมินมูลค่าของสตาร์ทอัพก็สามารถทำได้หลากหลายวิธี
1) Berkus Approach
คิดค้นโดย Dave Berkus นักลงทุนทั้งประเภท Angel Investor และ Venture Capital ชาวอเมริกัน ซึ่ง Dave Berkus บอกไว้ว่า การประเมินมูลค่าสตาร์ทอัพจะดูผ่าน 5 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ได้แก่ 1.มูลค่าพื้นฐาน 2.เทคโนโลยี 3.การดำเนินการ 4.กลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์กับฐานลูกค้าหลัก และ 5.กระบวนการผลิตและยอดขายภายหลัง
การประเมินมูลค่าด้วยวิธีนี้ จะให้มูลค่าของกิจการเป็นตัวเลขผ่านทั้ง 5 ปัจจัยดังกล่าว และบวกเพิ่มเข้าไปจากมูลค่าของกิจการโดยพื้นฐาน ทั้งนี้ Berkus Approach บางครั้งจะถูกเรียกว่า The Stage Development Method หรือ The Development Stage Valuation Approach เหมือนกัน
2) Cost-to-Duplicate Approach
วิธีนี้จะเป็นการรวมเอาต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพและการพัฒนาสินค้า รวมถึงการซื้อสินทรัพย์ถาวร เพื่อเป็นการประเมินมูลค่าตลาดที่เหมาะสมของกิจการอิงจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้
แต่วิธีนี้ก็มาพร้อมกับข้อเสียบางอย่าง เช่น ไม่ได้ให้มูลค่ากับศักยภาพของกิจการที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ไม่ได้ให้มูลค่ากับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น มูลค่าแบรนด์, ค่าความนิยม, มูลค่าสิทธิบัตร เป็นต้น
3) Future Valuation Multiple Approach
วิธีนี้จะให้ความสำคัญกับเพียงปัจจัยเดียวคือ ผลตอบแทนจากการลงทุน (return on investment: ROI) ที่นักลงทุนสามารถคาดการณ์ได้ในอนาคตอันใกล้ หรือประมาณ 5 - 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการประมาณการเหล่านี้จะรวมคิดจากหลายส่วน ได้แก่ ประมาณการยอดขายช่วง 5 ปีข้างหน้า, อัตราการเติบโต, ต้นทุนและค่าใช้จ่าย
4) Risk Factor Summation Approach
วิธีนี้จะมองในมุมของความเสี่ยงเป็นหลัก โดยประเมินว่ามีความเสี่ยงใดบ้างที่อาจจะกระทบต่อ ROI ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านลบ หรือความเสี่ยงด้านบวก หลังจากนั้นจึงประเมินความเสี่ยงเหล่านี้ออกมาเป็นมูลค่า ก่อนจะหักลบหรือบวกเพิ่มเข้าไปกับมูลค่าของกิจการที่ทำการประเมินผ่านวิธีอื่นๆ มาก่อนแล้ว
โดยความเสี่ยงของธุรกิจสามารถเป็นได้หลายรูปแบบ เช่น ความเสี่ยงจากการบริหารงาน ความเสี่ยงจากการเมือง ความเสี่ยงจากฐานการผลิต ความเสี่ยงจากการแข่งขันในตลาด ความเสี่ยงจากการลงทุนและเงินทุน ความเสี่ยงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป หรือความเสี่ยงด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม
5) Discounted Cash Flow Approach
เป็นวิธีที่ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดของบริษัทที่คาดว่าจะสร้างได้ในอนาคต หลังจากนั้นจึงประเมิน ‘อัตราคิดลด (Discount Rate)’ เพื่อนำมาประเมินว่ากระแสเงินสดเหล่านี้จะมีมูลค่าเป็นเท่าใดในปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยธรรมชาติของสตาร์ทอัพที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้การประเมินด้วยวิธีนี้มักจะต้องกำหนดอัตราคิดลดที่ค่อนข้างสูงตามไปด้วย
6) Market Comparables Approach
เป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับการประเมินมูลค่าของสตาร์ทอัพ โดยวิธีนี้จะให้ความสนใจกับมูลค่าของธุรกิจที่คล้ายคลึงกันกับที่เราสนใจ โดยดูว่าธุรกิจที่คล้ายคลึงกันนี้ถูกซื้อขายกันที่มูลค่าเท่าใด และนำตัวเลขนั้นมาปรับให้เหมาะสมกับสตาร์ทอัพที่ต้องการประเมิน
สำหรับใครที่เคยซื้อขายบ้าน หรือประกอบอาชีพนายหน้าขายบ้าน น่าจะคุ้นชินกับวิธีนี้เป็นอย่างดี เพราะโดยทั่วไปแล้วเราจะประเมินราคาของบ้าน จากการเปรียบเทียบกับบ้านที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น พื้นที่ ทำเล หากบ้านหลังหนึ่งที่ใกล้เคียงกับหลังที่เราสนใจเพิ่งจะขายออกไป เราก็อาจจะประเมินมูลค่าบ้านที่เราสนใจตามราคาซื้อขายของบ้านหลังที่ใกล้เคียงกับเรา
7) Ventures Capital Approach
เป็นแนวทางการประเมินมูลค่าด้วยมุมมองของผู้จัดการเงินทุน ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการทำกำไร ทำให้การประเมินด้วยวิธีนี้จะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในวันที่ตั้งใจจะขายออกค่อนข้างมาก โดยทั่วไปแล้วการลงทุนของ VC มักจะอยู่ที่ประมาณ 3 - 8 ปี ซึ่งนักลงทุนส่วนมากจะมีตัวเลขผลตอบแทนที่ต้องการอยู่ในใจก่อนแล้ว
อ้างอิง:
Startup Valuation Methods - Overview, Methods, Examples (corporatefinanceinstitute.com)
Valuing Startup Ventures (investopedia.com)
STARTUP - Startup Valuation Methods (strtp.com)
4 Valuation Models: Tips to Increase Startup Valuation When Seeking Investors (fi.co)